gulf war briefing

สงครามอิรัก-คูเวต 1990-1991
2 สิงหาคม 1990: รุกรานคูเวต

 ในเวลา 02.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น อิรักยกทัพข้ามพรมแดนไปคูเวต และเข้ายึดกรุงคูเวตซิตี ฝ่ายคูเวตนั้นมีกำลังเพียงน้อยนิดจึงตอบโต้อิรักได้ไม่นานและพ่ายไปในที่สุด ชีค จาเบอร์ อัล อาห์เหม็ด อัล ซาบาห์ ผู้ปกครองประเทศได้ลี้ภัยไปยังซาอุดีอารเบีย ขณะที่ประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน อ้างว่า รุกรานคูเวตเพื่อต่อต้านชาวตะวันตกที่เข้ามาครอบงำภูมิภาค แต่ทหารอิรักกลับสังหารชาวคูเวต และข่มขืนผู้หญิงที่ต่อต้านขัดขืนเป็นว่าเล่น ทำให้ชาวคูเวตเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ส่วนชาวต่างชาติหลายร้อยคนในคูเวตนั้น ทหารอิรักได้แยกบางส่วนมาเป็นโล่มนุษย์กำบังกระสุน บางส่วนบังคับให้ทำงานในโรงงาน และบางส่วนให้เป็นคนงานในค่ายทหารของอิรักและคูเวต แต่เชลยทั้งหมดถูกปล่อยตัวก่อนที่กลุ่มพันธมิตรจะรณรงค์ต่อต้านอิรัก





 สงครามครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจของอิรัก ซึ่งมีต้นตอจากหนี้สินที่ก่อตัวจากสงครามครั้งที่แล้ว ซัดดัมกล่าวหาคูเวตว่าผลิตน้ำมันเกินโควตาทำให้ราคาน้ำมันตกต่ำ ทั้งที่ทั้งสองผลิตน้ำมันจากบ่อเดียวกันอิรักไม่เคยยอมรับการแบ่งเขตแดนของอังกฤษ ที่แยกคูเวตออกจากดินแดนของอิรัก และก่อตั้งขึ้นเป็นรัฐ เมื่อคูเวตปฏิเสธไม่ยุ่งเกี่ยวกับหนี้สินที่อิรักก่อ ซัดดัมจึงสั่งให้บุกคูเวต ผลจากสงครามครั้งนี้ทำให้คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติตัดสินคว่ำบาตรอิรักทางเศรษฐกิจ และลงมติประณามการกระทำของอิรัก นอกจากนี้ยังจัดตั้งความร่วมมือระหว่างประเทศขึ้น โดยการรวบรวมกองกำลังจากหลายภูมิภาค ซึ่งสหรัฐฯ ก็เข้าร่วมด้วย ในเดือนพฤศจิกายน 1990 นานาชาติได้พยายามใช้วิธีทางการทูตเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ดังกล่าว และอสหประชาชาติก็ได้กำหนดวันขีดเส้นตายให้อิรักถอนกำลังออกจากคูเวต มิเช่นนั้นอาจมีการใช้กำลังให้อิรักยอมจำนน


 ม.ค. –ก.พ. 1991: ปฏิบัติการพายุทะเลทราย 

 วันที่ 17 มกราคม 1991 สหรัฐฯ อังกฤษ และพันธมิตรมีแผนที่จะยิงจรวดและทิ้งระเบิดตอบโต้การบุกคูเวตของอิรัก คราวนั้นนับเป็นครั้งแรกที่มีการนำเรือบรรทุกจรวดจากสหรัฐฯ มายังอ่าวเปอร์เซีย อีกทั้งยังเป็นการจุดชนวนการทำสงครามในภูมิภาคนี้ของรัฐบาลวอชิงตันอีกด้วย นอกจากนี้ สหรัฐฯ อังกฤษ และซาอุดีอาระเบีย ยังส่งเครื่องบินรบ ระเบิด และเฮลิคอปเตอร์ มาช่วยในการทำลายเป้าหมายในอิรัก และต่อมาก็มีการจัดตั้งกองบัญชาการ สนามบิน สะพาน สำนักงานชั่วคราว ศูนย์การสื่อสาร และพลังงานปรมาณู ฝ่ายพันธมิตรได้วางแผนที่จะบินโจมตีเป้าหมายต่างๆ ในอิรักกว่า 116,000 เที่ยวในระยะเวลา 6 สัปดาห์ และทิ้งระเบิดตรงจุดยุทธศาสตร์อีกประมาณ 85,000 ตัน ในจำนวนนี้มีประมาณ 10 % ที่ใช้สมาร์ทบอมบ์ ซึ่งมีเลเซอร์เป็นตัวนำร่องเพื่อชี้ทางไปยังเป้าหมายที่จะทิ้งระเบิด อันจะช่วยเพิ่มความแม่นยำได้



 ม.ค. – ก.พ. 1991: ขีปนาวุธสกั๊ด

Scud missile
 วันที่ 17 มกราคม 1991 อิรักได้ยิงขีปนาวุธสกั๊ดลูกแรกใส่เมืองเทลอาวีฟ และไฮฟาของอิสราเอล ส่วนอีกลูกยิงใส่ฐานทัพสหรัฐฯ ในซาอุดีอาระเบีย แต่สหรัฐฯ ส่งจรวดแพทริออตตอบโต้ได้ทัน และหลังจากที่อิรักยิงขีปนาวุธสกั๊ดใส่สหรัฐฯ และอิสราเอลบ่อยขึ้น สหรัฐฯ ก็ส่งหน่วยลาดตระเวนออกไปสำรวจหาจุดที่อิรักใช้ยิงขีปนาวุธ ทุกครั้งที่อิรักยิงขีปนาวุธนั้นทั้งสหรัฐฯ และอิสราเอลต่างก็ได้รับความเสียหาย แต่ครั้งที่รุนแรงที่สุดคือเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ในวันนั้นสหรัฐฯ กำลังทำสงครามภาคพื้นดินกับอิรัก แล้วอิรักก็ยิงขีปนาวุธสกั๊ดใส่อาคารสำนักงานซึ่งเป็นที่ตั้งฐานทัพสหรัฐฯ ในซาอุดีอาระเบีย ส่งผลให้ทหารอเมริกันเสียชีวิตไป28 นาย





 ม.ค. – ก.พ. 1991:  ประชาชนรับเคราะห์ 

 หลังจากที่สหรัฐฯ และพันธมิตรเริ่มทิ้งระเบิดใส่อิรัก ประชาชนชาวอิรักก็บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก ประชาชนบางส่วนได้พากันอพยพหนีตายมาอาศัยตามแนวชายแดนของประเทศ ในครั้งนั้นสื่อมวลชนจากจอร์แดนรายงานว่า ประชาชนในกรุงแบกแดดต้องอยู่ในความมืดและไม่มีน้ำดื่มน้ำใช้ เพราะน้ำและไฟถูกตัด ทั้งนี้ ได้เกิดข้อโต้เถียงและวิพากษ์วิจารณ์ตามมาเป็นอันมาก เมื่ออิรักอ้างว่า สหรัฐฯ ทิ้งระเบิดใส่โรงงานทำนมผงสำหรับเด็ก ซึ่งคอลิน พาวเวลล์ ผู้บัญชาการร่วมได้ตอบโต้ว่า สหรัฐฯ มั่นใจว่าจุดที่ทิ้งระเบิดเป็นโรงงานผลิตอาวุธชีวภาพ และในวันที่ 13 กุมภาพันธ์1991 สหรัฐฯ ก็ได้ลอบไปทิ้งระเบิดยังจุดที่ฝ่ายพันธมิตรระบุว่า เป็นที่บังคับการ และเป็นจุดหลบภัยจุดสำคัญของเหล่าทหารอิรัก ทว่า รัฐบาลแบกแดดได้ใช้เป็นที่กำบังให้กับประชาชนระหว่างที่มีการโจมตีทางอากาศ ทำให้ประชาชนอย่างน้อย 315 คนต้องจบชีวิตอย่างอนาถ และในจำนวนนี้เป็นเด็ก 130 คน จากความผิดพลาดครั้งนี้ ประธานาธิบดีซัดดัม ได้ฉวยโอกาสวิจารณ์และเผยแพร่การกระทำของสหรัฐฯ และได้เหนี่ยวรั้งประชาชนชาวคูเวตไว้เป็นโล่มนุษย์ในด้านการทหาร และเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรมของอิรัก


 24 – 28 กุมภาพันธ์ 1991: สงครามสามภาค


ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 1991 กองกำลังของฝ่ายพันธมิตรได้รุกคืบในสงครามทั้งในภาคพื้นดิน อากาศ และทะเล และสามารถเอาชนะกองทัพอิรักได้ภายในระยะเวลา 100 ชั่วโมง โดยก่อนหน้านั้น 1 วัน อิรักไม่สามารถปฏิบัติตามคำเสนอของสหประชาชาติที่ต้องการให้อิรักถอนทหารออกจากคูเวต และ

ให้ยุติการจุดไฟเผาบ่อน้ำมันในคูเวต กองกำลังของฝ่ายพันธมิตรได้เคลื่อนตัวเข้าสู่อิรักและคูเวตจากหลายจุด ตามแนวพรมแดนของซาอุดีอาระเบีย โดยใช้รถถังบุกเข้ามาทางภาคเหนือเพื่อจัดการกับกองทหารรักษาการณ์ ขณะที่กองกำลังบางส่วนบุกยึดทางหลวงสายบาสรา-คูเวต ทางภาคใต้ของอิรัก และอีกส่วนดำเนินการตัดเส้นทางการขนส่งทางน้ำที่อิรักใช้ลำเลียงอาวุธจากคูเวต ส่วนกองกำลังของซาอุดีอาระเบีย ช่วยผลักดันอิรักให้จนมุมเร็วขึ้น


 วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 1991 อิรักประกาศว่า จะถอนกำลังออกจากคูเวต แต่ปฏิเสธที่จะรับมติตอบโต้อิรักจากยูเอ็นอย่างไรก็ตาม เมื่อกองกำลังฝ่ายพันธมิตรรุกไล่หนักขึ้น รถถัง ยานยนต์หุ้มเกราะ รถบรรทุก และทหารอิรักต่างก็แตกพ่ายและหนีเอาตัวรอด การจู่โจมครั้งนี้ กองกำลังฝ่ายพันธมิตรได้ฆ่าทหารอิรักไปหลายพันนาย ส่วนใหญ่เป็นพวกที่พยายามหลบหนีโดยใช้เส้นทางสายบาสรา จนทำให้มีการขนานนามเส้นทางสายนี้ว่า “ทางหลวงแห่งความตาย” แต่หลังจากที่ได้ประมาณการความเสียหาย ปรากฏว่า เฉพาะในการรบภาคพื้นดิน กองกำลังฝ่ายพันธมิตรได้ฆ่าทหารอิรักไปประมาณ 25,000 ถึง 30,000 นาย






 28 กุมภาพันธ์ 1991: อิรักประกาศหยุดยิง 

 วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 1991 กองกำลังของฝ่ายพันธมิตรสามารถบุกไปช่วยชาวคูเวตที่ถูกจับมาเป็นเชลยในอิรักได้สำเร็จ โดยกองกำลังชุดพิเศษได้เข้าไปเป็นชุดแรก ตามด้วยกองกำลังของคูเวต และกองทัพเรือของสหรัฐฯ และในเวลา 21.00 น. ประธานาธิบดีบุชก็ประกาศให้มีการหยุดยิง ณ เวลา 04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น กองกำลังฝ่ายพันธมิตรรุกไปทั่วอิรัก และได้ควบคุมตัวทหารอิรักหลายหมื่นนายไว้ โดยส่วนใหญ่ออกอาการหิว หมดแรง เสียขวัญ และยอมแพ้โดยขัดขืนเพียงเล็กน้อย ขณะที่ทหารอีกประมาณ 150,000 นายหนีเอาตัวรอด ในการรบครั้งนี้ ฝ่ายพันธมิตรสูญเสียทหารระหว่างทำการรบไป 145 นาย อีก 148 นายเสียชีวิตทั้งที่ไม่ได้รบ ส่วนอิรักนั้นสูญเสียทหารไปประมาณ 60,000 ถึง 200,000 นาย ทั้งนี้ ในวันที่ 2 มีนาคม 1991 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้ผ่านร่างมติการหยุดยิง โดยต้องการให้อิรักยุติปฏิบัติการทางทหารทุกรูปแบบ เลิกล้มความพยายามที่จะผนวกคูเวตไว้ในดินแดนของตน เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่เก็บอาวุธเคมีและชีวภาพ ปล่อยตัวประกันและเชลยศึกชาวต่างชาติ และรับผิดชอบความเสียหายและความสูญเสียที่เกิดขึ้นระหว่างยึดครองคูเวต และในวันต่อมา ผู้บัญชาการทหารของอิรักก็ประกาศหยุดยิงอย่างเป็นทางการระหว่างที่พบกับผู้นำทางการทหารของสหรัฐฯ ในเต็นท์ที่ซาฟวาน แต่ประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซนไม่ได้เดินทางมาร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย



ที่มาของข้อมูลสงคราม  :  http://www.manager.co.th/

***   หลังจากสงครามจบลงได้สักระยะ   ผมก็มีโอกาสได้เดินทางไปที่ประเทศคูเวต  .... หากอยากทราบว่าผมเดินทางไปทำอะไรแล้วละก็  โปรดติดตามตอนต่อไปครับ

No comments:

Post a Comment